ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) อย. รู้ทัน สกัด 4X100 สายพันธุ์ใหม่ ค้นแหล่งผลิตน้ำหวานปรุงสำเร็จ ผสม syrup แทนยาแก้ไอ ไม่สนอนามัย กรอกมือทุกขวด
4 กรกฎาคม 2568

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย พล.ต.ท.จิรภพ  ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ  สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์  บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์  รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.พัฒนพงศ์  ศรีพิณเพราะ, พ.ต.อ.ชัฏฐ  นากแก้ว, พ.ต.อ.สำเริง  อำพรรณทอง รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์  คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.สุรโชค  ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ปฏิบัติการจับกุมผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำกระท่อมผสมพร้อมดื่ม ตรวจยึด อายัด ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มี อย. เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต และวัตถุดิบจำนวนมาก สถานที่ผลิต ไม่ถูกสุขลักษณะ พบแรงงานต่างชาติกรอกมือบรรจุขวด

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดตรวจยึด นำโดย พ.ต.ท.รุตินันท์ สัตยาชัย สว.กก.4 บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

พฤติการณ์กล่าวคือ ตามนโยบายรัฐบาลที่มีมาตรการให้เฝ้าระวังและปราบปรามสารเสพติดในรูปแบบใหม่ที่ล่อใจเยาวชน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า และ LEAN (ลีน) โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นน้ำหวานมีรสชาติต่าง ๆ ซึ่งกำลังระบาด และเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น โดยการนำไปผสมน้ำอัดลม, ยาบางชนิด หรือดื่มโดยไม่ผสมอะไรเลย เพื่อสร้างความมึนเมา 

โดยกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกันการกวดขันจับกุมโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอม สถานที่จำหน่ายยาแก้ไอที่ผิดกฎหมาย ที่มีเจตนาจำหน่ายยาแก้ไอเพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นนำไปผสมกับน้ำกระท่อมมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และในครั้งนี้สืบทราบว่าได้มีผู้ลักลอบผลิต syrup หรือน้ำหวานเข้มข้น ออกจำหน่ายในชุมชนที่มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมาก รวมถึงมีการโฆษณาที่ส่อ หรือชักชวนให้นำ syrup ดังกล่าวไปผสมกับเครื่องดื่มเพื่อสร้างความมึนเมา เช่น 

“ผสมน้ำดื่ม-เครื่องดื่ม หรือน้ำสมุนไพร เพื่อลดขม เพิ่มรสชาติ ให้มีความหวาน-หอม กลมกล่อมยิ่งขึ้น”,  “น้ำเชื่อมหวานเข้มข้น ของคนรุ่นใหม่”,  “เน้นดีด ไม่เน้นซึม” และ “รับประกันความยัน” ซึ่งคำว่า “ยัน” เป็นศัพท์แสลงที่ใช้กันในกลุ่มวัยรุ่นภาคใต้ หมายถึงอาการมึนเมาหลังเสพสารเสพติด ส่วนมากใช้กับพวกดื่มน้ำกระท่อม เป็นต้น

เมื่อทำการสืบสวนพบว่า มีผู้ลักลอบผลิต ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปยี่ห้อ 69 (ซิกนาย) โดยนำ syrup ผสมน้ำกระท่อม เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม โดยมีการผสมกลิ่นและรสชาติเพื่อจูงใจกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น เช่น สตอเบอรี่ องุ่น แอปเปิ้ล ลิ้นจี่ฯ ออกจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง โดยเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่นทั่วไป ในพี้นที่ จ.สมุทรปราการ 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นของศาลจังหวัดพระประแดง เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิต ภายในบ้านพักอาศัย ในพื้นที่ ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ พบนางสาว ธาริณี (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี เป็นผู้นำตรวจค้น โดยขณะตรวจค้นพบว่า มีการใช้โรงจอดรถบริเวณหน้าบ้านในการผลิต โดยต้มใบกระท่อมต้มในหม้อ จากนั้นนำมาผสมน้ำเชื่อมรสชาติต่าง ๆ และใช้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านนั่งกรอกลงขบวดบรรจุภัณฑ์โดยไม่สวมถุงมือแต่อย่างใด โดยสถานที่ใช้ผลิตไม่ได้รับอนุญาต และไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูป วัตถุดิบ อุปกรณ์ในการผลิต ดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์น้ำหวานรสผลไม้ ยี่ห้อ 69 Sixnine ไม่มีเลข อย. รสโยเกิร์ต, รสสตรอเบอรี่, รสแอปเปิล, รสองุ่น, รสบลูฮาวาย รวมกว่า 300 ขวด

2. วัตถุดิบในการผลิต

    2.1 ใบกระท่อมสด น้ำหนัก 15 กิโลกรัม

    2.2 น้ำเชื่อมรสเข้มข้นรสชาติต่าง ๆ  

    2.3 ผงรสผลไม้ ถุงละ 500 กรัม จำนวน 24 ถุง

    2.4 น้ำเชื่อมสูตรดั้งเดิม ถุงละ 800 กรัม จำนวน 8 ถุง

    2.5 ผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมยี่ห้อ 69 (มี อย.) ขนาด 60 ซีซี จำนวน 60 ขวด

    2.6 ผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมยี่ห้อ 69 (มี อย.) ขนาด 1,000 ซีซี จำนวน 18 แกลลอน ฯลฯ

3. วัสดุ อุปกรณ์ในการผลิต

     3.1 ถังสแตนเลสขนาด 120 ลิตร ภายในบรรจุน้ำต้มใบกระท่อม จำนวน 2 ถัง

     3.2 เตาแก๊สพร้อมขาตั้ง จำนวน 2 ชุด

     3.3 ถังใส่น้ำพลาสติกขนาด 120 ลิตร พร้อมฝาปิด จำนวน 4 ถัง

     3.4 กาละมังขนาด 20 ลิตร จำนวน 2 ใบ

     3.5 กระบวยตักน้ำ จำนวน 5 ใบ

     3.6 เหยือกกรอกน้ำ จำนวน 10 ใบ    

     3.7 ไม้พาย จำนวน 1 ด้าม

     3.8 ขวดพลาสติกเปล่าขนาด 15 ซีซี สกรีนตรา 69 จำนวน 600 ใบ

     3.9 ขวดพลาสติกเปล่าขนาด 35 ซีซี สกรีนตรา 69 จำนวน 160 ใบ

     3.10 ฝาขวดสีต่าง ๆ จำนวน 800 ฝา

     3.11 สติกเกอร์ติดขวด ระบุ SIX BOSS 69  จำนวน 1,000 ดวง ฯลฯ

จากการสอบถาม น.ส.ธารีณีฯ รับว่าเป็นผู้ผลิตน้ำเชื่อมรสผลไม้ตรา 69 ออกขายให้กับลูกค้า โดยคิดค้นสูตรและวิธีทำขึ้นมาเอง ส่งขายในราคาขวดละ 60 - 70 บาท ผลิตขายวันละประมาณ 120-150 ขวด โดยทำมาแล้วประมาณ 2-3 เดือน

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันผลตรวจ หากพบสารที่เป็นอนุพันธ์ทางยาและสารเสพติดจะได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

1. ฐาน “ผลิต และจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” โทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

2. หากตรวจพบยาแผนปัจจุบันหรือสิ่งเจือปนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจัดเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลหาแหล่งผลิตอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต

ขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อนจำหน่าย หากพบไม่มีเลขสารบบอาหาร อย่าซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนได้ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่ใดและแหล่งผลิตนั้นมีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line: @FDAThai และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์  บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระแสการนำผลข้างเคียงจากยากลุ่มแก้แพ้ แก้ไอ แก้ปวด ไปใช้เป็นส่วนผสมเครื่องดื่มในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4x100” หรือ Lean (ลีน) เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา วิงเวียนขาดสติ เป็นที่นิยมมากและมีอัตราสูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น ถือว่าเป็นอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและสุขภาพ อาจทำให้เกิดการติดยาทั้งทางกายและจิตใจ และมีอาการถอนยาเมื่อขาดยา รวมถึงอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนตามมา บก.ปคบ. จะดำเนินจับกุมอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

“การเผยแพร่ข่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนให้รู้เท่าทันภัยอันตรายรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้เป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น สำหรับการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชน ขอให้พิจารณาถึงประโยชน์และสิทธิของผู้ต้องหาข้างต้น”

************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 4 กรกฎาคม 2568  ข่าวแจก 179  /  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

คลังรูปภาพ