ข้อมูลหน่วยงาน
โครงสร้างและหน้าที่ของหน่วยงาน
โครงสร้างและอัตรากำลังทั้งหมด (ตามกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2563)
โครงสร้างและอัตรากำลังภายในของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
1. หน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ พ.ศ. 2563
ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีภารกิจเกี่ยวกับการปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพเหล่านั้นต้องมีคุณภาพและปลอดภัย ส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องด้วยข้อมูลทางวิชาการที่มีหลักฐานเชื่อถือได้และมีความเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัยและสมประโยชน์ โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
1) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ กฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร กฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยอาหาร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
2) พัฒนาระบบและกลไก เพื่อให้มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ
3) เฝ้าระวัง กำกับ และตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สถานประกอบการและการโฆษณา รวมทั้งผลอันไม่พึงประสงค์ของผลิตภัณฑ์สุขภาพ การพัฒนาระบบความปลอดภัยด้านสารเคมีของประเทศ และเป็นแกนกลางร่วมดำเนินการกับองค์กรระหว่างประเทศด้านสารเคมีตลอดจนมีการติดตามหรือเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ
4) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
5) ส่งเสริมและพัฒนาผู้บริโภคให้มีศักยภาพในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องเหมาะสม ปลอดภัย และคุ้มค่า รวมทั้งการร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิของตนได้
6) พัฒนาและส่งเสริมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน และเครือข่ายประชาคมสุขภาพ
7) พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค และผลประโยชน์ของประเทศชาติ
8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน หรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
2. การแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แบ่งส่วนราชการดังนี้
1) สำนักงานเลขานุการกรม
2) กองควบคุมเครื่องมือแพทย์
3) กองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย
4) กองควบคุมวัตถุเสพติด
5) กองด่านอาหารและยา
6) กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร
7) กองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมและการบริการ
8) กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค
9) กองยา
10) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
11) กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
12) กองอาหาร
3. กฎหมาย
1) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
2) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2522) ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2528) ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2530) และฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2562)
3) พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
4) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2544) ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2551) และฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562)
5) พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2562)
6) พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
7) พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และประมวลกฎหมายยาเสพติด
4. อนุสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศ
1) The Single Convention on Narcotic Drugs, 1961
2) The Convention on Psychotropic Substances, 1971
3) The International Code of Marketing of Breast-milk Substitute 1981
4) The United Nations Convention Against Illicit Traffic in Narcotic Drugs and Psychotropic Substances 1988
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการภายใต้กฎหมายทั้ง 7 ฉบับนี้ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ จำนวน 5 คณะ ได้แก่
1) คณะกรรมการอาหาร
2) คณะกรรมการยา
3) คณะกรรมการเครื่องสำอาง
4) คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด
5) คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาด้านยา อาหารและเคมีวัตถุ เป็นกลไกประสานงานกับหน่วยงานอื่น คณะกรรมการดังกล่าว ได้แก่ คณะกรรมการแห่งชาติทางด้านยา คณะกรรมการแห่งชาติด้านอาหาร คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางด้านเคมีวัตถุ การดำเนินงานควบคุมทางด้านต่างๆ จะต้องดำเนินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และมติของ คณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น และเลขาธิการฯ รองเลขาธิการฯ เจ้าหน้าที่ของกองที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกรกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของ กทม. ที่ อย. ได้มอบให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารตาม พรบ.อาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อสามารถตรวจสอบดูแลคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในท้องตลาด และทำหน้าที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและมติของคณะกรรมการดังกล่าวข้างต้น